ตำนานความยิ่งใหญ่ลงอีกฉาก สำหรับพ่อมดแห่งโลกนาฬิกา “เซอเวอริน วุนเดอร์มาน” ผู้ก่อตั้งและบุกเบิกนาฬิกาเรือนหรู “โฆรุ่ม” จากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองอุดตันเฉียบพลัน เมื่อคืนวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ปราสาทส่วนตัวในเมืองนีซ ทางใต้ของฝรั่งเศส หลังจากที่ต้องทรมานกับโรคมะเร็งระยะสุดท้ายมานานกว่า 8 ปี เส้นทางชีวิตของ เซอเวอริน วุนเดอร์มาน ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หลายๆคนเข้าใจ เขาเกิดที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อปี ค.ศ. 1938 ในครอบครัวเชื้อสายยิว ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวของเขาต้องอพยพหนีภัยสงคราม ไปไกลถึงนครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ “วุดเดอร์มาน” ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา เขาต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น กระทั่งในปี ค.ศ.1960 เมื่อเขาได้เป็นคนขับรถให้ “อัลโด กุชชี่” ด้วยความขยัน ใฝ่เรียนรู้ จึงได้พลิกชีวิตของ “วุนเดอร์มาน” ให้ก้าว สู่ตำแหน่งเจ้าของอาณาจักรกุชชี่นาฬิกาแต่ละรุ่นที่เกิดจากความคิดเขา ประสบความสำเร็จขายได้มากกว่าล้านเรือน ต่อมาในปี 1997 ครอบครัวกุชชี่ได้ขอซื้อกิจการคืน ทำให้เขาต้องเริ่มมองหานาฬิกาแบรนด์ใหม่ จนไปสะดุดตากับนาฬิกาหรู “โฆรุ่ม” (CORUM) จากครอบครัวบานน์วาร์ท (Bannwart) และเจรจาขอซื้อเมื่อปี ค.ศ. 2000 จากนั้นเขาก็เริ่มร่ายมนต์วิเศษที่ทำให้โลกตะลึง กับพรสวรรค์ด้านคิดสร้างสรรค์ของเขาอีกครั้งหนึ่ง
สิ่งที่ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่า “พ่อมดแห่งโลกนาฬิกา” เพราะเป็นผู้นำในการออกแบบนาฬิกาหรูที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร อาทิ โฆรุ่ม รุ่นบับเบิ้ล ที่สร้างกระแสนาฬิกาโอเว่อร์ไซส์จนฮือฮาไปทั่วโลก และด้วยความหลงใหล ที่มีต่อประเทศไทย เขายังได้ตั้งชื่อนาฬิกาเป็นภาษาไทยหลายรุ่น อาทิ รุ่นไก่ชน รุ่นหัวหิน และรุ่นบับเบิ้ล คุณพุ่ม
นอกจากโลดแล่นในธุรกิจโลกแห่งเวลาแล้ว “วุนเดอร์มาน” ยังเป็นนักสะสมงานศิลปะ ภาพวาด และเครื่องปั้นของศิลปินเอกของโลก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เขานำศิลปะมาประดับไว้บนหน้าปัดนาฬิกา ในรูปแบบที่ช็อกสายตาชาวโลก อาทิ รูปของซาตาน, โจรสลัด, หัวกะโหลก และตัวโจ๊กเกอร์ ซึ่งเกิดจากความคิดระหว่างความเป็นและความตาย ที่เขาต้องประสบจากการต่อสู้โรคมะเร็งที่กัดกร่อนร่างกายเขาไปทุกวินาที
แม้ “วุนเดอร์มาน” ต้องจากโลกนี้ไปอย่างสงบในวัย 70 ปี
แต่ผลงานที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ทำให้เขาได้รับเกียรติจากรัฐบาลฝรั่งเศส
มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินสูงสุด
ในฐานะที่ช่วยรักษาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของฝรั่งเศส
ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก รวมทั้งยังทิ้งผลงานล้ำค่า มากมายไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาอีกด้วย.
ขอขอบคุณบทความจาก http://www.thairath.co.th/
สนับสนุนโดย : www.skythailandshop.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น